ตอนที่ 23 ท่อ PVC กับงาน DIY

วันนี้เราจะมาเรียนรู้การนำท่อพีวีซีมาใช้(แบบผิดจุดประสงค์)กันครับ

PVC ย่อมาจาก Polyvinyl Chloride นับเป็นวัสดุที่เหมาะกับการเอามาทำงาน DIY มากๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า

  1. หาซื้อง่าย
  2. มีข้อต่อให้เลือกหลายแบบมาก ทำให้การทำงานกับท่อพีวีซีเหมือนกับการเล่นตัวต่อขนาดใหญ่
  3. พีวีซี เป็นวัสดุที่แข็งแรงพอจะเอามาทำเป็นชิ้นงานต่างๆได้ แต่อ่อนพอที่จะให้เราตัด ดัด และ เปลี่ยนแปลงเป็นรูปร่างที่เราต้องการด้วยความร้อนได้ง่าย
  4. มันมีรูตรงกลางให้เราใช้ประโยชน์ได้หลากหลายแบบ (แม้จะไม่ตรงจุดประสงค์เท่าที่ควร)

แต่ท่อพีวีซีนั้นก็มีหลายสี หลายแบบ หลายมาตรฐาน แล้วมันต่างกันยังไงกันนะ?
เวลาหาข้อมูลในเนทเรื่องการเลือกใช้ท่อ PVC ก็จะมีหลายความคิดเห็นหลายข้อมูลให้งงไปหมด
วันนี้แหละครับ ผมจะมาไขข้อสงสัย(ของตัวผมเอง) ให้เพื่อนๆได้ฟังกัน

หลายๆคนแบ่งการใช้งานท่อ PVC ตามสี บางที่บอกว่า สีขาวเอาไว้เดินไฟ บางที่นั้นไซร้บอกว่าใช้เป็นท่อน้ำ
จริงๆแล้วไม่ผิดทั้งคู่ครับ เพราะมันมีท่อสีขาวสำหรับงานไฟฟ้าและก็มีท่อสีขาวสำหรับใช้เป็นท่อน้ำ
ถ้าเราอยากจะเข้าใจจริงๆว่า ท่อแต่ละสีถูกออกแบบสำหรับอะไร ต้องดูที่มาตรฐานในการผลิตครับเพราะว่ามาตรฐานในการผลิตจะเป็นตัววัดว่า ท่อนั้นๆมีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสมตามการใช้งานหรือไม่

เท่าที่ผมเคยเห็น ในประเทศไทยเราใช่มาตรฐานที่เกี่ยวกับท่ออยู่ 2 อย่าง คือ มอก. และ IEC

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า มอก.
(แค่รู้ว่า มอก. ย่อมาจากอะไร ผมก็ฉลาดขึ้นละ)
เราสามารถแบ่งท่อพีวีซีตาม มอก. ได้ดังนี้ครับ

  1. ท่อร้อยสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ (มอก. 216-2524) กำหนด เป็นท่อสีเหลืองอ่อน (Primerose)
    จุดเด่นของท่อประเภทนี้คือต้องไม่นำไฟฟ้า ทนอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ไม่ลามไฟและทนต่อแรงกระแทกจากภายนอกได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับการร้อยสายไฟฟ้า
  2. ท่อน้ำดื่ม (มอก. 17-2532) กำหนดเป็นท่อสีน้ำเงิน (Arctic Blue) แต่ในระยะหลังมีการผลิตออกมาเป็นสีขาวเช่นกัน เพื่อความสวยงามและทาสีทับได้ง่าย
    จุดเด่นของท่อประเภทนี้ คือมีความสามารถในการทนแรงดันน้ำได้ดี แต่ไม่ทนความร้อน โดยแบ่งมาตรฐานได้เป็นสามระดับชั้นคุณภาพคือ
    PVC  5 เป็นท่อน้ำที่บางที่สุด เหมาะกับการใช้ในกรณีที่น้ำในท่อไม่มีแรงดัน เช่น ท่อระบายน้ำ เป็นต้น
    PVC-8.5 และ PVC-13.5 เป็นท่อที่เหมาะกับการใช้งานที่น้ำภายในท่อมีแรงดัน โดยตัวเลขที่กำกับระบุถึงความสามารถในการรับแรงกดดันได้ของท่อ ตามตาราง ซึ่งในบ้านพักอาศัยขนาดเล็กโดยทั่วไป ใช้ PVC 8.5 ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

    ตารางชั้นคุณภาพ
    ตารางชั้นคุณภาพ

    หากเพื่อนๆต้องการรู้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มอก. 17-2532 http://www2.rid.go.th/research/vijais/moa/fulltext/TIS17-2532.pdf

  3. ท่อสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมและชลประทาน (มอก. 999-2533) กำหนดเป็นสีเทา
    ท่อสีเทาเหมาะกับการนำมาใช้ในงานเกษตร หรืองานระบายน้ำทิ้ง ที่ไม่ต้องทนแรงดันอะไรมากนัก น้ำหนักเบา ไม่เหมาะกับการเดินแบบฝังดิน หากนำไปใช้กับงานด้านการเกษตรไม่จำเป็นต้องมี มอก. 999-2533 ก็ได้แต่ถ้าหากจะนำไปใช้กับการระบายน้ำจากระบบอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมี มอก. 999-2533

มาตรฐาน IEC หรือ International Electrotechnical Commission
เป็นมาตรฐานนานาชาติสำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงท่อเดินสายไฟด้วย เราจึงใช้มาตรฐานนี้ในการเลือกใช่ท่อเช่นกัน

  1. ท่อร้อยสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ (IEC 61386) กำหนดเป็นท่อสีขาว
    มาตรฐาน IEC 61386 เป็นมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างมากขึ้น เนื่องจากมีจุดเด่นที่ความทนทานต่อสภาพอากาศ ไม่นำไฟฟ้า ทนอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ไม่ลามไฟและทนต่อแรงกระแทกจากภายนอกได้ดี ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ระหว่างท่อ มาตรฐาน IEC 61386 กับ มอก. 216-2524 คือเรื่องของขนาดของท่อที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะพูดในหัวข้อถัดๆไป

ทีนี้มาถึงเรื่องที่มันสำคัญกับเราชาว DIY จริงๆ

ในการนำท่อ PVC มาใช้กับงาน DIY นั้น เราอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติตามมาตรฐานมากนัก (แต่ก็อาจใช้ในบางกรณีจึงอยากบอกไว้) สิ่งที่เราต้องรู้จริงๆ เมื่อเรานำท่อ PVC มาใช้คือ

  1. สี เราต้องการใช้สีอะไร ถึงแม้ว่าท่อ PVC จะมีสีให้เลือกไม่มากนัก แต่หลายๆครั้ง สีขาวก็ดูดีกว่า สีฟ้าแจ๋นเป็นไหนๆ
  2. ขนาดของท่อพีวีซี ซึ่งมีสิ่งที่เราควรสนใจ ดังนี้
    • ความยาว
      ถ้าคุณซื้อท่อกับอาเฮียแถวบ้าน เค้าอาจจะยอมตัดท่อแบ่งขายให้คุณได้ แต่ถ้าคุณต้องไปซื้อตามโฮมเซ็นเตอร์ต่างๆแล้วล่ะก็ เค้าไม่ยอมแบ่งขายให้แน่นอนครับ เค้าตัดครึ่งให้ก็ดีแล้ว เพราะฉะนั้น รู้ไว้ก็ดีครับว่า ท่อเส้นนึงยาวเท่าไหร่ เวลาให้เค้าตัดเป็นท่อนๆ จะได้รู้ว่า อยากได้ท่อนละเท่าไหร่ จะได้ไม่เหลือเศษท่อเยอะ
      โดยท่อในระบบ มอก. จะขายความยาวเส้นละ 4 เมตร ในขณะที่ท่อมาตรฐาน  IEC จะขายเส้นละ 2.92 เมตร (10 ฟุต)
    • เส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก (Outer Diameter/OD)
      จริงๆเวลาคุณซื้อท่อขนาดใดๆ คุณก็แค่ซื้อข้อต่อท่อที่เป็นของท่อขนาดนั้นๆได้เลย แต่ว่าบางครั้งถ้าเราจะเอาท่อมาดัดแปลง เราอาจจะอยากรู้ว่า เส้นผ่านศูนย์กลางของมันขนาดเท่าไหร่ เพื่อซื้อดอกสว่านที่เจาะรูได้พอดีสอดท่อนั้นๆ หรือคุณอาจอยากเอาท่อPVC  มาต่อกับท่ออื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันเป็นต้น
      ซึ่งเรื่องเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอกของท่อนั้น ก็จะแบ่งตามมาตรฐานเช่นกัน

      • ท่อมาตรฐาน IEC กำหนดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก เป็นหน่วย มม. ตัวเลขขนาดที่พิมพ์บนท่อจะเท่ากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก
      • ท่อมาตรฐาน มอก. กำหนดขนาดท่อเป็นนิ้ว แต่ขนาดท่อที่พิมพ์บนท่อนั้นจะไม่เท่ากับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายนอก
    • ความหนา
      จะมีแค่ท่อน้ำเท่านั้นที่มีความหนาของผนังท่อไม่เท่ากันในแต่ละระดับชั้นคุณภาพครับ

      ตารางแสดง ชื่อขนาด มิติและเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของท่อน้ำปลายธรรมดา
      ตารางแสดง ชื่อขนาด มิติและเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของท่อน้ำปลายธรรมดา
      รูปตัวอย่างแสดง ชื่อขนาด มิติและเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของท่อไฟฟ้า ทั้งแบบ มอก. และ IEC
      รูปตัวอย่างแสดง ชื่อขนาด มิติและเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของท่อไฟฟ้า ทั้งแบบ มอก. และ IEC

       

      จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่อแต่ละชนิดแต่ละขนาด จะมีขนาดมาตรฐานอยู่ แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าเพื่อนๆจะนำท่อ PVC มาดัดแปลงโดยการสวมมันเข้าด้วยกัน โปรดทดสอบขนาดของท่อที่จะนำมาสวมเข้าด้วยกัน ก่อนเลือกซื้อท่อนะครับ 


การทำงานกับท่อ PVC

  1. การตัด
    • กรรไกรตัดท่อPVC โดยเฉพาะ แต่กรรไกรตัดท่อจะสามารถตัดท่อได้ไม่ใหญ่มากนัก อาจจะได้ถึงแค่ท่อขนาด 1.5 นิ้ว (แล้วแต่กรรไกร)
    • เลื่อยสำหรับตัดท่อPVC หรือเลื่อยที่มีฟันเลื่อนที่ละเอียด ถ้าไม่มีเลื่อยตัดโดยเฉพาะคุณสามารถใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดได้ แต่จะได้รอยตัดที่ไม่เรียบร้อยนัก
  2. การดัด งอ และเปลี่ยนรูปร่างของท่อ
    ดัดด้วยความร้อน ด้วยปืนเป่าลมร้อน หรือแก็สกระป๋อง
  3. การติด
    หากต้องการให้ติดถาวรใช้ น้ำยาประสานท่อ (ต้องขอโทษด้วยที่ในคลิปผมเผลอเรียกว่ากาวอีกแล้ว มันติดปากจริงๆ) หรือถ้าต้องการให้สามารถถอดประกอบได้ ผมแนะนำให้ใช้สกรูครับ

จริงๆแล้วเรื่องของท่อ PVC และการนำท่อ PVC มาใช้นั้นยังมีอีกมากมายครับ นี่เป็นเพียงข้อมูลเล็กๆน้อยๆที่ผมได้รวบรวมเอาไว้เท่านั้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆไม่มากก็น้อยครับ

ถ้าเพื่อนๆอยากได้ไอเดียเกี่ยวกับการนำท่อPVC มาใช้ ผมก็มี Board ที่ได้รวบรวมรูปเอาไว้ (ในนี้จะมีรูปงานจากท่อเหล็กด้วยแต่ก็เอามาใช้กับท่อ PVC ได้เช่นกัน) เพื่อนๆสามารถคลิกดูได้ ที่นี่ เลยครับ

ขอบคุณครับ

2 comments

  1. […] ตอนนี้เรายังหาท่อดูดฝุ่นที่พอดีไม่ได้ แต่เพื่อนๆสามารถเรียนรู้วิธีการดัดแปลงท่อ PVC ได้จาก “ตอนที่ 23 ท่อ PVC กับงาน DIY“ […]

    Like

Leave a comment